หากคุณติดตามฟุตบอลอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา คงเคยได้ยินชื่อกฎ 50+1 กันมาบ้างแล้ว กับกติกาที่เป็นเอกลักษณ์ของวงการฟุตบอลเยอรมันที่บังคับให้สโมสรฟุตบอลต้องมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นแฟนบอลของทีม
กฎนี้มีบทบาทมากในช่วงการประท้วงการก่อตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ซึ่งกฎ 50+1 กลายเป็นสัญลักษณ์และข้อเรียกร้องของแฟนบอลในประเทศอังกฤษ ที่แสดงถึงความต้องการของแฟนบอลที่อยากจะเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดอีกครั้ง
ขณะที่กฎนี้ตอบโจทย์เชิงอุดมการณ์ ความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น เพราะกฎ 50+1 กำลังเผชิญหน้ากับโอกาสที่จะถูกฆ่าตัดตอน หลังมีส่วนทำให้วงการลูกหนังเมืองเบียร์เจอกับปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในปัจจุบัน
นี่
โควิด-19 เปลี่ยนทุกสิ่ง
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจไปกับสิ่งที่เราจะเล่าในบทความนี้ จึงต้องแนะนำกฎ 50+1 ให้กับผู้อ่านที่ไม่ใช่แฟนของฟุตบอลเยอรมัน และอาจไม่ทราบถึงกฎสำคัญที่เป็นแกนกลางของวงการลูกหนังเมืองเบียร์
กฎ 50+1 คือกฎที่เป็นเอกลักษณ์ของฟุตบอลเยอรมัน อันเป็นกฎข้อบังคับที่กำหนดให้สโมสรฟุตบอลในเยอรมันต้องมีแฟนบอลถือหุ้นอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าสโมสรฟุตบอลจะเป็นของแฟนบอลไม่ใช่ของนายทุน
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าในช่วงปลายยุค 90s ทีมฟุตบอลเยอรมันใช้เงินเกินตัวกันหลายทีม สุดท้ายพอเกิดวิกฤตก็เกือบจะประสบปัญหาล้มละลายกันไปเป็นแถบ จนทำให้ต้องมีกฎนี้ขึ้นมาเพื่อควบคุมการใช้เงินของสโมสร ซึ่งการมีแฟนบอลถือหุ้นจะเป็นเครื่องรับประกันว่า สโมสรจะอยู่ต่อไปให้ได้โดยไม่ใช้เงินเกินตัวเด็ดขาด
เกือบทุกสโมสรในเยอรมันใช้กฎนี้ในการบริหารทีม ยกเว้นบางทีมที่ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน, เฟาเอฟแอล โวล์ฟสบวร์ก, ฮอฟเฟนไฮม์ เนื่องจากมีบริษัทหรือเจ้าของทีมให้การสนับสนุนสโมสรมายาวนานเกิน 20 ปี
เมื่อสโมสรส่วนใหญ่มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นแฟนบอลโดยไม่มีนายทุนใหญ่หนุนหลัง ดังนั้นรายได้ของทีมจะมาจากสองส่วนใหญ่ ๆ หนึ่งคือรายได้จากสปอนเซอร์ สองคือรายได้จากตั๋วเข้าชมและการขายสินค้าที่ระลึก
ก่อนหน้านี้ทีมจากเยอรมันแทบไม่เคยเจอปัญหาด้านการเงิน เรียกได้ว่าบริหารดีที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น บาเยิร์น มิวนิค, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน, เอสเซ ไฟร์บวร์ก หรือ เอาส์บวร์ก ต่างบริหารทีมให้มีกำไรและไม่มีหนี้แม้แต่ยูโรเดียว
สโมสรฟุตบอลเยอรมันควรจะมั่นคงทางการเงินและแทบไม่ต้องเจอวิกฤตล้มละลายเหมือนหลายสโมสรในอังกฤษ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดการระบาดของไวรัส โควิด-19
การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ทำให้ฟุตบอลต้องหยุดพักไปนาน กว่าจะกลับมาได้ก็ต้องเตะแบบไม่มีคนดู ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของสโมสรฟุตบอลในเยอรมันอย่างมหาศาล
ทั้งรายได้จากสปอนเซอร์ที่หายไป เมื่อการแข่งขันไม่เป็นไปตามปกติ รายได้จากตั๋วการแข่งขันไปจนถึงการขายสินค้าในวันที่มีแมตช์เดย์ ล้วนเป็นหมัดหนัก ๆ ที่ซัดการเงินของสโมสรในเยอรมันให้ล้มทั้งยืน
เพราะถึงทีมเหล่านี้จะไม่มีหนี้มาก่อน แต่ก็ไม่ได้มีเงินถังไว้รอสนับสนุนยามฉุกเฉิน เมื่อรายรับตกฮวบสวนทางกับรายจ่ายที่ยังเท่าเดิม ภาวะหนี้สินของทีมฟุตบอลในเยอรมันก็เกิดขึ้นทันที
ก่อนฤดูกาล 2019-20 จะสิ้นสุดลง มีรายงานว่า 13 สโมสรจากบุนเดสลีกา และลีกา 2 อาจไม่มีเงินพอที่จะหมุนเวียนในสโมสร หากไม่มีการกลับมาแข่งขันอีกครั้งหลังการพักลีก ซึ่งสะท้อนภาพได้ดีว่าวิกฤตการระบาดของ โควิด-19 อัดทีมลูกหนังจากเมืองเบียร์ได้เจ็บปวดแค่ไหน
โชคดีที่เกมฟุตบอลกลับมาเตะกันอีกครั้ง แต่นั่นก็เป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอดชั่วคราวเท่านั้น
วิกฤตที่เลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าบางสโมสรจะปรับตัวได้ด้วยการลดรายจ่าย นั่นคือซื้อนักเตะให้น้อยลงและเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นด้วยการขายนักเตะออกจากทีม แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่านี่ไม่ใช่วิถีทางที่ดีในระยะยาวของวงการลูกหนังเยอรมัน
หนึ่งในสโมสรที่ทำงานได้ดีที่สุดคือ บาเยิร์น มิวนิค ในขณะที่สโมสรทั่วโลกพร้อมใจขาดทุน ทัพเสือใต้ยังแสดงการบริหารทีมแบบขั้นเทพ ที่ยังหากำไรมาได้ในยุค โควิด-19
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาพอใจทั้งหมด เพราะต้องแลกมากับการพลาดนักเตะหลายราย และการที่ทีมยังคงเป็นทีมที่แข็งแกร่งเบอร์ 1 ของเยอรมันอยู่ได้ในตอนนี้ ก็เพราะว่าการบริหารทีมที่ดีมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม บาเยิร์น รู้ว่าพวกเขาคงกินบุญเก่าไปได้อีกไม่นาน ทำให้ผู้บริหารของทีมเสือใต้กลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ในวงการฟุตบอลเยอรมันที่คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดให้กลุ่มนายทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในวงการลูกหนังเมืองเบียร์ เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไป
“ผมคิดว่าทุกคนต้องยอมรับความจริงที่ว่า กฎ 50+1 ไม่ได้ช่วยหลายสโมสรในตอนนี้ มีหลายทีมที่ต้องการเงินก้อนโตมากกว่าทุกสิ่ง” แฮร์เบิร์ต ไฮเนอร์ ประธานคนปัจจุบันของ บาเยิร์น มิวนิค แสดงความกังวลต่อภาพรวมของลีกฟุตบอลอาชีพเยอรมัน
สิ่งที่ประธานบาเยิร์นพูดไม่ใช่เรื่องไกลตัว ในตลาดซื้อขายฤดูกาล 2020-21 มี 9 สโมสร หรือครึ่งหนึ่งในบุนเดสลีกาที่ขายนักเตะให้ได้เงินมากกว่าการจ่ายเพื่อซื้อนักเตะ และผู้เล่นฝีเท้าดีก็ย้ายออกจากลีกกันไปหลายคนในปีนั้น เช่น ไค ฮาแวร์ตซ์, ติโม แวร์เนอร์, ธิอาโก้ อัลคันทาร่า เป็นต้น
ถัดมาในฤดูกาล 2021-22 ทุกอย่างยิ่งดูแย่ลงกว่าเดิม 12 ทีมในบุนเดสลีกาเลือกขายมากกว่าซื้อ สโมสรอย่าง ฮอฟเฟนไฮม์ และ โบคุ่ม ไม่ใช้เงินแม้แต่ยูโรเดียวในการเสริมทัพนักเตะ หรือทีมอย่าง โคโลญจน์ ก็ใช้เงินไปแค่ 550,000 ยูโรเท่านั้น ในการซื้อนักเตะ ซึ่งถือว่าบ้าคลั่งมาก ๆ กับการทำทีมฟุตบอลในลีกใหญ่ของยุโรป
ขณะที่สตาร์ที่เดินออกจากลีกก็มีมากกว่าปีที่แล้ว ทั้ง เจดอน ซานโช่, ดาวิด อลาบา, อิบราฮิม โคนาเต้, มัตธีอัส คุญญ่า, ลีออน ไบลีย์, เวาท์ เวกฮอร์สต์, ฮวัง ฮีชาน, เดนิส ซากาเรีย, โธมัส เดลานีย์ เป็นต้น
นอกจากนี้นักเตะหลายคนยังถูกปล่อยไปในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็น เวาท์ เวกฮอร์สต์ กองหน้าตัวเก่งของ โวล์ฟส์บวร์ก ที่ราคาตามตลาดอยู่ที่ 20 ล้านยูโร แต่ถูกขายให้ เบิร์นลีย์ สโมสรจากอังกฤษไปแค่ 14 ล้านยูโร
รวมถึง เดนนิส ซากาเรีย กองกลางอนาคตไกลของ โบรุสเซีย เมินเช่นกลัดบัค ที่ราคาประเมินอยู่ที่ 27 ล้านยูโร แต่กลับถูกขายให้ ยูเวนตุส ในราคาแค่ 8.6 ล้านยูโร
“การระบาดของ โควิด-19 แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของบุนเดสลีกา สโมสรที่นี่อยู่ด้วยการพึ่งเงินจากสปอนเซอร์มากเกินไป” มาร์ติน ไคน์ อดีตประธานสโมสรฮันโนเวอร์ กล่าว
การขายนักเตะส่งผลต่อคุณภาพของทีมและลีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพของบุนเดสลีกาฤดูกาลนี้ตกลงไปมาก เพราะแข้งฝีเท้าดียังคงออกจากลีกไปเรื่อย ๆ เพื่อการหาเงินมาพยุงสโมสร ซึ่งสักวันก็ต้องหมดลง
เพื่อไม่ให้บุนเดสลีกาเป็นลีกปั้นเพื่อขายแล้วส่งออก หรือที่เรียกกันว่า ไปมากกว่านี้ ในมุมมองของหลายคนเชื่อว่าถึงเวลาที่จะต้องยกเลิกกฎ 50+1 เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามาช่วยอัดฉีดเงินทุนและทำให้ฟุตบอลเยอรมันกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
ทางเลือกที่ไม่ง่าย
ยิ่งการเงินของสโมสรในเยอรมันแย่เท่าไหร่ กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกกฎ 50+1 ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แม้กระทั่งสโมสรที่ต่อต้านแบบสุดตัวอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยังปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้
“โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่มีทางสนับสนุนการยกเลิกกฎ 50+1 แต่เมื่อยิ่งมีสโมสรเผชิญปัญหาการเงินมากเท่าไหร่ โอกาสของการยกเลิกยิ่งมีมากเท่านั้น” ฮานส์ โยอาคิม วัตซ์เก้ ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กล่าว
ขณะที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยืนยันชัดเจนว่ายอมให้สโมสรผลงานไม่ดี ดีกว่าขายทีมตกเป็นของนายทุนต่างชาติ ทว่ากับบางทีมก็ไม่ได้มีทางเลือกแบบนั้น เช่น ชาลเก้ 04 ที่ผลงานแย่จนตกชั้นไปอยู่ในลีกา 2 แถมยังมีหนี้อีกประมาณ 200 ล้านยูโรรอให้ชำระ
ยังมีอีกหลายสโมสรที่กำลังพบกับปัญหาและบางทีมก็เริ่มเจอกับปัญหาการล้มละลาย ท่ามกลางวิกฤต โควิด-19 ทั้ง ไกเซอร์สเลาเทิร์น และ เตอร์กูชู มิวนิค ซึ่งเป็นสโมสรระดับลีก 3 ของเยอรมัน
ทีมระดับล่างหลายทีมร่วงไปแล้ว ขณะที่ทีมระดับบนอีกหลายทีมก็กำลังร่อแร่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิธีที่จะหาเงินให้เร็วที่สุดและง่ายที่สุดคือการหานายทุนที่มีเงินก้อนโตมาเป็นเจ้าของสโมสร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กระแสยกเลิกกฎ 50+1 จะหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ และมีสิทธิ์เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน
“ผมไม่ปฏิเสธว่ากฎ 50+1 ทำให้บุนเดสลีกาสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ ถ้ามีการยกเลิกกฎ 50+1 จะมีนักลงทุนสนใจเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในเยอรมันแน่นอน” คีแรน แมกไกวร์ อาจารย์ด้านการเงินในกีฬาฟุตบอล จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล กล่าว
อย่างไรก็ตามหากการยกเลิกกฎ 50+1 เกิดขึ้นจริง ก็มีความเสี่ยงกับข้อเสียเช่นกัน นั่นคือมันอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เศรษฐีที่ไม่จริงจังกับฟุตบอลเข้ามาเป็นเจ้าของทีมเพื่อแสวงหาผลกำไร ซึ่งอาจไม่พาทีมไปสู่ความสำเร็จในแบบที่หวังไว้ รวมถึงสามารถบริหารทีมให้ล้มเหลวจนติดหนี้ได้เหมือนกัน
“ในความเป็นจริงแล้วการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลคือการเสียเงินมหาศาล และสร้างแต่ความเจ็บปวดให้กับเจ้าของทีม ทุกวันนี้เศรษฐีที่มีหน้ามีตาอยู่แล้วในสังคมไม่อยากจะเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลกันเท่าไหร่นักหรอก” คีแรน แมกไกว์ กล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยกเลิกกฎ 50+1 ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากที่หวังตักตวงผลประโยชน์จากวงการฟุตบอล มากกว่าที่จะเข้ามาพัฒนาด้วยใจรักจริง ซึ่งมีภาพให้เห็นมามากมายจากทั่วทั้งโลก
นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมันไม่ใช่ชาติจาก 5 ลีกใหญ่ที่ประสบวิกฤตทางการเงินมากที่สุด แต่เป็นรองเพียงอังกฤษ และสเปน โดยยังมีอิตาลีและฝรั่งเศสที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งทั้งสองลีกก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของทีมกันได้อย่างเสรี แต่ก็ใช่ว่าจะแก้ไขปัญหาทางการเงินของธุรกิจสโมสรฟุตบอลได้
แม้เป็นการถอยหลังแต่ยังไม่จนตรอก ด้วยเหตุนี้ทาง หรือองค์กรดูแลการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพของเยอรมัน จึงยืนยันว่า จะไม่มีการยกเลิกกฎ 50+1 อย่างเด็ดขาดในตอนนี้ และจะกัดฟันหาวิธีอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
“50+1 ยังคงเป็นส่วนสำคัญของวงการฟุตบอลเยอรมัน และเราจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแสดงให้เห็นว่ากฎนี้สามารถคงอยู่ได้ แม้จะเจอความท้าทายเข้ามา” โอลิเวอร์ เลกิ ที่ปรึกษาด้านการเงินของหลายสโมสรในเยอรมันกล่าว
เพื่อให้กฎ 50+1 ยังคงอยู่ต่อไปได้ ปัจจุบันได้มีการหารือเพื่อหาวิธีที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับลีก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรอบเพลย์ออฟในการลุ้นแชมป์เพื่อเพิ่มความตื่นเต้น หรือการแข่งขันนอกประเทศซึ่งมี ซาอุดีอาระเบีย ชาติจากเอเชียตะวันออกกลางให้ความสนใจอยู่
ยืนยันว่าสิ่งที่ทำให้บุนเดสลีกาเป็นบุนเดสลีกาจนมาถึงทุกวันนี้ คือการมีกฎ 50+1 เป็นหัวใจของลีก อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายจะพิจารณาทุกทางเลือกให้ดีที่สุด เพราะวงการฟุตบอลเยอรมันในปัจจุบันยืนอยู่ในจุดทางแยกสำคัญที่ไม่ว่าจะเลือกเดินไปทางไหน ก็จะเป็นการกำหนดอนาคตของวงการลูกหนังในประเทศนี้ไปอีกหลายสิบปี
กฎ 50+1 จึงเปรียบเสมือนสิ่งที่ยืนอยู่บนแก้วบาง ๆ ที่อาจจะแตกได้ทุกเมื่อ แต่ถ้ายืนอยู่ได้อย่างสมดุล บางทีมันก็จะสามารถไปต่อได้เช่นกัน
นี่คือเรื่องปกติในโลกฟุตบอลปัจจุบัน ท่ามกลางวงการลูกหนังที่เปลี่ยนเป็นธุรกิจเต็มตัวอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งลีกเยอรมันมีการบริหารการเงินที่ยอดเยี่ยม แต่เพียงแค่พริบตาเดียวก็มาเจอกับปัญหาที่ต้องแก้ไข
หากโชคเข้าข้างสถานการณ์การระบาด โควิด-19 สิ้นสุดจริง ๆ ในเร็ววัน วงการลูกหนังเมืองเบียร์ก็อาจสามารถเดินต่อไปในแนวทางที่พวกเขาภาคภูมิใจได้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นบางทีการยกเลิกกฎ 50+1 อาจเป็นทางออกสุดท้ายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป