การเสิร์ฟเอซถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกีฬาเทนนิส เพราะไม่เพียงจะเป็นการเล่นที่สามารถโจมตีและเอาแต้มจากคู่แข่งได้ในการตีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ลูกเสิร์ฟในลักษณะนี้ยังทรงพลังจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมทั่วไป
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า นักเทนนิสที่เสิร์ฟเอซได้ดีไม่ใช่ผู้เล่นระดับมือวางอันดับหนึ่งที่เรารู้จักกันดี แต่เป็นนักเทนนิสชาวโครเอเชียที่บางคนไม่เคยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเลยสักครั้ง แต่กลับถูกยกย่องเป็นนักเสิร์ฟที่ดีที่สุดในโลก
หาคำตอบว่าทำไมนักเทนนิสโครเอเชียถึงเสิร์ฟเอซได้โดดเด่นกว่าชาติอื่น กับคำตอบที่แสดงให้เห็นถึงสรีระร่างกายที่เหนือกว่า กับการสร้างจุดอ่อนเพื่อเสริมจุดแข็งของตนให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก
พบกับยอดนักเสิร์ฟแห่งโครเอเชีย
ก่อนจะพูดถึงเหตุผลที่นักเทนนิสจากโครเอเชียสามารถเสิร์ฟเอซได้มากที่สุด เรามาพูดถึงบรรดานักเทนนิสชาวโครเอเชียที่มีผลงานด้านนี้โดดเด่นก่อน เพราะว่าพวกเขาไม่ใช่นักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จมหาศาลในระดับมือหนึ่งของโลก หรือคว้าแชมป์รายการแกรนด์สแลมของโลกบ่อยครั้ง จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในวงกว้าง
จอห์น อิสเนอร์ อาจเพิ่งขึ้นเป็นเจ้าของสถิตินักเทนนิสที่เสิร์ฟเอซได้มากที่สุดในปัจจุบัน (17 กรกฎาคม 2022) ด้วยจำนวน 13,814 ครั้งก็จริง แต่ผู้ที่รั้งอันดับ 1 มานานก่อนเสียตำแหน่งไปคือ อิโว คาร์โลวิช นักเทนนิสรุ่นเก๋าวัย 43 ปี ที่เคยทำให้โลกตกตะลึงเมื่อปี 2017 หลังจากเสิร์ฟเอซ 75 ครั้งในรายการออสเตรเลียน โอเพ่น ปีดังกล่าว และยังถือเป็นนักเทนนิสคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่เสิร์ฟเอซได้ครบหนึ่งหมื่นครั้ง โดยสถิติของเขาในปัจจุบันอยู่ที่ 13,728 ครั้ง
ส่วนนักเทนนิสชาวโครเอเชียที่เสิร์ฟเอซได้มากที่สุดเป็นอันดับสอง คือ โกราน อิวานิเซวิช อดีตนักเทนนิสมือวางอันดับสองของโลก และอดีตแชมป์วิมเบิลดันที่เลิกเล่นไปตั้งแต่ปี 2004 แต่ผลงานการเสิร์ฟของเขายังคงตรึงตาจนถึงทุกวันนี้ โดยเขาเป็นนักเทนนิสคนแรกของโลกที่สามารถเสิร์ฟเอซได้ถึงหนึ่งหมื่นครั้ง โดยสถิติการเสิร์ฟเอซของเขาหยุดอยู่ที่ 10,237 ครั้ง
เพียงแค่นักเทนนิสสองรายที่กล่าวมา เท่านี้ก็มากเพียงพอที่จะทำให้นักเทนนิสชาวโครเอเชียได้รับการจับตาในฐานะชาติที่เสิร์ฟลูกเอซได้ดีที่สุด เพราะในบรรดา 5 นักเทนนิสที่เคยเสิร์ฟเอซเกินหนึ่งหมื่นครั้ง มีเพียงโครเอเชียชาติเดียวที่มีนักเทนนิสในรายชื่อดังกล่าวมากกว่าหนึ่งคน โดยที่เหลือคือ จอห์น อิสเนอร์ (สหรัฐอเมริกา), โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (สวิสเซอร์แลนด์) และ เฟลิเซียโน่ โลเปซ (สเปน)
แต่นักเทนนิสชาวโครเอเชียที่เสิร์ฟเอซดีไม่ได้มีแค่นี้ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ถึงแม้เสิร์ฟเอซไม่ถึงหนึ่งหมื่นครั้ง แต่มีสถิติที่น่าประทับใจ ได้แก่ อิวาน ยูบิซิช อดีตนักเทนนิสมือวางอันดับสามของโลกที่เลิกเล่นไปตั้งแต่ปี 2012 โดยเจ้าตัวเสิร์ฟเอซในอาชีพของเขาทั้งหมด 8,138 ครั้ง
ส่วนอีกคนคือ มาริน ซิลิช นักเทนนิสดีกรีอดีตมือสามของโลก และเคยก้าวไปคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น กับเหรียญเงินโอลิมปิก เกมส์ มาแล้ว โดยเจ้าตัวเสิร์ฟเอซไปแล้ว 7,778 ครั้ง และมีโอกาสที่จะทำลายสถิติของยูบิซิชได้ไม่ยาก เพราะเจ้าตัวยังไม่เลิกเล่น แถมยังคงอยู่ในฟอร์มที่ยอดเยี่ยมในตำแหน่งมือวางอันดับ 16 ของโลก นั่นยิ่งจะทำให้ผลงานของนักเทนนิสชาวโครเอเชียบนตารางเสิร์ฟเอซโดดเด่นเพิ่มขึ้นไปอีก
สรีระและพละกำลังคือปัจจัยสำคัญ
เหตุผลง่ายที่สุดที่ทำให้นักเทนนิสชาวโครเอเชียสามารถทำเกมเสิร์ฟได้โดดเด่นเหนือใคร คือความสูงของพวกเขาที่มากกว่านักเทนนิสทั่วไป และหลักฐานสำคัญที่ยืนยันข้อนี้ไม่ใช่นักเทนนิสชาวโครเอเชียเอง แต่เป็น จอห์น อิสเนอร์ นักเทนนิสชาวสหรัฐอเมริกาที่สูงมากกว่า 2 เมตร และสามารถเสิร์ฟเอซได้มากถึง 13,814 ครั้ง ถือเป็นเจ้าของสถิติเสิร์ฟเอซมากที่สุดอันดับหนึ่งในปัจจุบัน
มีนักเทนนิสเพียงไม่กี่คนที่สูงกว่า อิสเนอร์ หนึ่งในนั้นคือ อิโว คาร์โลวิช ที่สูงถึง 211 เซนติเมตร นั่นหมายความว่า สองนักเทนนิสที่เสิร์ฟเอซได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์มีส่วนสูงมากกว่าสองเมตร ซึ่งแน่นอนว่าเป็นส่วนสูงที่มากกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สรีระของมนุษย์ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการเสิร์ฟเอซอย่างแท้จริง
เมื่อหันไปมองยังรูปร่างของนักเทนนิสชาวโครเอเชียส่วนใหญ่ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าสรีระร่างกายของพวกเขาค่อนข้างสูงใหญ่กว่านักเทนนิสทั่วไป โดยผู้เล่นชาวโครเอเชียมักมีส่วนสูงอยู่ที่ราว 193 ถึง 198 เซนติเมตร ขณะที่ผู้เล่นฝั่งยุโรปกลางหรือยุโรปตะวันตกมักมีส่วนสูงอยู่ที่ราว 185 ถึง 188 เซนติเมตร
ดังนั้นแล้ว ผู้เล่นชาวโครเอเชียจึงมีส่วนสูงมากกว่านักเทนนิสโดยทั่วไปอยู่ราว 10 เซนติเมตร มีเพียงนักเทนนิสจากอเมริกาเหนือเท่านั้นที่พอจะทัดเทียมส่วนสูงกับผู้เล่นชาวโครเอเชีย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นักเทนนิสชาวอเมริกาหรือแคนาดาทุกคนที่จะสูงเกิน 190 เซนติเมตร ขณะที่นักเทนนิสชาวโครเอเชียแทบทั้งหมดมีสรีระร่างกายเกือบสองเมตรเป็นปกติ
สรีระร่างกายที่สูงใหญ่นำมาสู่พละกำลังมหาศาล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกเสิร์ฟของนักเทนนิสมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าหากคุณมีพละกำลังที่สามารถเสิร์ฟลูกเทนนิสได้แรงและเร็วกว่าปกติได้แล้ว หมายความว่าคุณแซงหน้าคนอื่นไปหนึ่งขั้น ที่เหลือจากนั้นคือการฝึกความแม่นยำให้ลูกเสิร์ฟลงสู่เป้าหมายที่ต้องการ
เมื่ออธิบายด้วยหลักฟิสิกส์ ลูกเทนนิสที่ถูกโยนขึ้นไปบนฟ้าจะร่วงลงมาโดยมีความเร่งเท่ากับแรงโน้มถ่วงของโลกเสมอ ดังนั้นแล้ว สิ่งที่จะทำให้ความเร็วและแรงของลูกเสิร์ฟแตกต่างออกไป (ยิ่งลูกเร็วมาก ความแรงก็จะยิ่งมาก) จึงมีเพียงแรงอันไม่คงที่ซึ่งเข้ามาทำกับลูกเทนนิสในเวลานั้น ซึ่งแรงอันไม่คงที่ที่พูดถึงนี้คือพละกำลังของนักเทนนิสที่ตีใส่ลูกเวลาเสิร์ฟนั่นเอง
เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพละกำลังของนักเทนนิสคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกเสิร์ฟของผู้เล่นมีประสิทธิภาพ เมื่อบวกกับส่วนสูงที่มากกว่าผู้เล่นทั่วไป การตีลูกเสิร์ฟจากความสูงมากกว่าพื้นดินราว 2 เมตร หรือมากกว่านั้นหากเป็นกรณีของคาร์โลวิช คือฝันร้ายสำหรับนักเทนนิสทุกคน เพราะนั่นจะนำมาซึ่งวิถีลูกเสิร์ฟที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ยอดนักเทนนิสซึ่งถือเป็นอีกคนที่เสิร์ฟเอซมากกว่าหนึ่งหมื่นครั้ง ยังยอมรับว่าเขาไม่มีอะไรไปเทียบผู้เล่นจากโครเอเชียในเรื่องของการเสิร์ฟ
“วิถีลูกเสิร์ฟของของเขายอดเยี่ยมจนน่าเหลือเชื่อ เชาเป็นคนที่เสิร์ฟลูกได้ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกอย่างแน่นอน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเขาถึงไม่เสิร์ฟใส่ผมในลูกที่สอง เพราะเขาเล่นงานผมได้แน่ แต่การเสิร์ฟครั้งแรก ผมแค่อยากจะบอกว่า ผมไม่เคยเดาทางลูกเสิร์ฟของใครเลย เว้นเสียแต่ว่าจะเจอกับคาร์โลวิชเท่านั้น” เฟเดอเรอร์เล่าถึงความยากลำบากหลังเขาพ่ายแพ้ให้แก่ อิโว คาร์โลวิช เมื่อปี 2008
เลือกวิธีการเล่นให้เข้าจุดแข็งของตัวเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ร่างกายที่ใหญ่โตของผู้เล่นชาวโครเอเชียไม่ได้ส่งผลดีต่อพวกเขาเพียงอย่างเดียว เพราะลูกเสิร์ฟอันทรงพลังต้องแลกมากับการที่นักเทนนิสเหล่านี้จะไม่สามารถเคลื่อนที่บนคอร์ทได้อย่างรวดเร็วเหมือนผู้เล่นที่ตัวเล็กกว่า ดังนั้น หากนักเทนนิสตัวใหญ่ไม่สามารถปิดเกมได้อย่างรวดเร็ว และต้องเข้าสู่สถานการณ์ที่ตีแลกกันไปมาจนพื้นที่เปิด พวกเขาจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ นักเทนนิสชาวโครเอเชียแทบทั้งหมดที่โดดเด่นเรื่องลูกเสิร์ฟจึงเลือกเล่นในรูปแบบ หรือรูปแบบที่นักเทนนิสจะโจมตีคู่แข่งด้วยการตีเพียงสองครั้งเท่านั้น คือ ลูกเสิร์ฟความเร็วสูงที่หวังทำแต้มในฐานะเอซ และถ้าหากฝ่ายตรงข้ามสามารถป้องกันลูกเสิร์ฟของพวกเขาได้ นักเทนนิสในรูปแบบการเล่นนี้จะรีบวิ่งเข้าไปใกล้เน็ต เพื่อหวดลูกวอลเลย์ความเร็วสูงกลับไป ถือเป็นการปิดบัญชี
การเล่นในลักษณะ จะช่วยลดการพึ่งพาความเร็วและความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่อันเป็นจุดอ่อนของผู้เล่นตัวใหญ่ เพื่อมาพึ่งพาการโจมตีคู่แข่งด้วยลูกเสิร์ฟเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ เป็นรูปแบบการเล่นที่ค่อนข้างทรงประสิทธิภาพ แต่ไม่หลากหลายและตายตัว นักเทนนิสจากบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จึงไม่นิยมฝึกนักเทนนิสตัวใหญ่ให้เล่นได้เพียงรูปแบบนี้รูปแบบเดียว เพราะนั่นหมายความว่า พวกเขาจะเปิดจุดอ่อนให้คู่แข่งได้เห็นอย่างชัดเจน
แต่สำหรับนักเทนนิสชาวโครเอเชีย พวกเขาไม่ลังเลที่จะฝึกฝนตัวเองจนกลายเป็นผู้เล่นแนว แบบเต็มตัว ทั้ง อิโว คาร์โลวิช และ โกราน อิวานิเซวิช ต่างเป็นผู้เล่นในรูปแบบ เต็มตัวทั้งคู่ แตกต่างจาก จอห์น อิสเนอร์ ที่ถึงแม้ส่วนสูงไม่ต่างจากคาร์โลวิช แต่ก็เลือกจะฝึกการเล่นรูปแบบอื่นเอาไว้ด้วย
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงแม้อิสเนอร์จะเป็นผู้เล่นที่เสิร์ฟเอซได้มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แต่กลับไม่ได้รับการถูกยกย่องให้เป็นนักเสิร์ฟที่มีฝีมือยอดเยี่ยมในระดับเดียวกับ คาร์โลวิช หรือ อิวานิเซวิช นั่นเป็นเพราะนักเทนนิสชาวโครเอเชียทุ่มเวลาไปกับการฝึกลูกเสิร์ฟของเขาให้สมบูรณ์แบบ ตามลักษณะการเล่นของแนว ที่สามารถคว้าแต้มได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้คู่แข่งตีลูกแม้แต่ครั้งเดียว ผ่านการเสิร์ฟเอซให้ได้ทุกครั้ง
สถิติของคาร์โลวิชสะท้อนให้เห็นความยอดเยี่ยมของนักเทนนิสชาวโครเอเชียในส่วนนี้ เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามที่เขาขึ้นนำคู่แข่ง 15/0 เจ้าตัวมีสถิติไม่ต่ำกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ที่จะรักษาเกมเสิร์ฟในลูกต่อไป และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาขึ้นนำคู่แข่ง 40/0 โอกาสรักษาเกมเสิร์ฟของคาร์โลวิชคือ 100 เปอร์เซ็นต์ พูดอีกทางหนึ่งคือเป็นฝ่ายเก็บแต้มจากเกมนั้น 100 เปอร์เซ็นต์
ทางกลับกันหากคาร์โลวิชถูกขึ้นนำก่อน 0/40 เขามีโอกาสรักษาเกมเสิร์ฟได้เพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถึงจะเป็นตัวเลขที่น้อยลงอย่างชัดเจน คาร์โลวิชก็ถือเป็นผู้เล่นที่รักษาเกมเสิร์ฟได้มากที่สุดหากตกอยู่ภายใต้สถานการณ์นี้ แม้แต่ เฟเดอเรอร์ ก็ไม่สามารถทำผลงานดีกว่าเขาได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบัน ตำนานนักเทนนิสชาวโครเอเชียจะเข้าไปรับบทบาทเป็นผู้ฝึกสอนของนักเทนนิสระดับแถวหน้า โดย อิวานิเซวิช ก้าวเป็นโค้ชให้กับ โนวัค โยโควิช ตั้งแต่ปี 2019 ส่วน อิวาน ยูบิซิช เป็นโค้ชให้กับ เฟเดอเรอร์ มาตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากนักเทนนิสเหล่านี้รู้ว่า หากพวกเขาสามารถพัฒนาเกมเสิร์ฟอันยอดเยี่ยมเข้ากับรูปแบบการเล่นของตนได้ พวกเขาจะกลายเป็นนักเทนนิสผู้ไร้เทียมทาน
มันคงเป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า ไม่มีนักเทนนิสจากประเทศใดที่จะสามารถเล่นลูกเสิร์ฟได้อันตรายเท่าชาวโครเอเชียอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อได้เปรียบจากสรีระร่างกาย หรือรูปแบบการเล่นที่เอื้ออำนวยกับจุดเด่นของพวกเขา ทั้งหมดหลอมรวมให้นักเทนนสิชาวโครเอเชียมีอาวุธที่อันตรายมากที่สุดอย่างหนึ่งในโลกกีฬา และจะทำให้พวกเขาสร้างความยิ่งใหญ่ในวงการเทนนิสไปอีกนาน